Since 1984


                                                                              แนวข้อสอบเก่า   2552
                   ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ 2526

 

 

ข้อ 1.

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติงานสารบรรณนอกเหนือไปจากที่ได้กำหนดไว้จะต้องปฏิบัติอย่างไร

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติ เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้อยู่ภายใต้บังคับ ที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 จึงสามารถปฏิบัติงานสารบรรณนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้

3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถขอทำความตกลงกับปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในส่วนของการปฏิบัติงานสารบรรณนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้

4. การปฏิบัติงานสารบรรณนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ จะกระทำมิได้

 

ข้อ 2.

กฎหมายใดที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 กำหนดให้การปฏิบัติงานสารบรรณเป็นไปตามกฎหมายนั้น

1. ระเบียบงานสารบรรณทหาร

2. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ

3. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ

4. ถูกทั้ง 2 และ 3

 

ข้อ 3.

ข้อใดเป็นหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526

1. ตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

2. การแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวก และจัดทำคำอธิบาย

3. ดำเนินการฝึกอบรมเกี่ยวกับงานสารบรรณ

4. ถูกทุกข้อ

 

ข้อ 4.

ข้อใดไม่เป็นหนังสือราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526

1. กรมที่ดินส่งแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศให้กรมแผนที่ทหาร

2. กรมการค้าภายในได้รับ E – Mail การยืนยันตอบรับเข้าร่วมงานแสดงสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด จากบริษัทซีโก จำกัด

3. สน.สายไหม สั่งซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประจำทุกวันเพื่อ ให้บริการข้าราชการ และประชาชนไว้อ่าน

4. สน.มีนบุรี ได้รับเอกสารซึ่งเป็นหลักฐานทางคดี นายชอบโชว์ อวดเก่ง ทางไปรษณีย์

 

ข้อ 5.

5. ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับการเรียงลำดับหนังสือภายนอก

1. เรื่อง คำขึ้นต้น อ้างถึง (ถ้ามี) สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี)

2. คำขึ้นต้น เรื่อง อ้างถึง (ถ้ามี) สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี)

3. ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง วันที่ เดือน ปี เรื่อง คำขึ้นต้น

4. ข้อความ คำลงท้าย ลงชื่อ ตำแหน่ง ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง

 

ข้อ 6.

การอ้างถึงในหนังสือภายนอก ข้อใดไม่ถูกต้องตามระเบียบสารบรรณ

1. ให้อ้างถึงหนังสือทุกฉบับที่เคยมีการติดต่อกันเพื่อสะดวกในการค้นหา ทำให้เกิดการปฏิบัติที่รวดเร็วขึ้น

2. ให้อ้างถึงหนังสือฉบับสุดท้ายที่ติดต่อกันฉบับเดียว

3. หากมีเรื่องอื่นที่เป็นสาระสำคัญต้องนำมาพิจารณา สามารถอ้างถึงหนังสือฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยเฉพาะให้ทราบด้วย

4. ให้อ้างถึงหนังสือที่เคยมีติดต่อกัน เพราะหนังสือที่ส่วนราชการผู้รับหนังสือได้รับมาก่อนแล้วจะจากส่วนราชการใดก็ตาม โดยให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือ และเลขที่หนังสือ วันที่ เดือน ปี พุทธศักราชของหนังสือ

 

ข้อ 7.

คำขึ้นต้นในหนังสือราชการที่มีถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือข้อใด

1. กราบเรียน เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

2.  เรียน เพราะหนังสือส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

3. ถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเป็นคำขึ้นต้น ในกรณีที่ระบุชื่อตัวบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่

4. ไม่มีข้อถูก

 

ข้อ 8.

การที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจอาคารสถานบันเทิงจะต้องใช้หนังสือราชการชนิดใด

1. หนังสือภายใน

2. หนังสือสั่งการ

3. หนังสือภายนอก

4. หนังสือประชาสัมพันธ์

 

ข้อ 9.

ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับ “ส่วนราชการ” ในหนังสือภายใน ตามระเบียบงานสารบรรณ

1. ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือ

2. ถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับ กระทรวง ทบวง กรม ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่องทั้งระดับกรมและกอง

3. ถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับต่ำกว่า กรม ลงมา ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือเพียงระดับกอง

4. หากส่วนราชการต่ำกว่ากอง ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของหนังสือ พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี)

 

ข้อ 10.

การลงวันที่ ที่ถูกต้อง ต้องปฏิบัติอย่างไร

1. ให้ลงตัวเลขของวันที่ ชื่อเต็มของเดือน และตัวเลขของปีพุทธศักราชที่ออกหนังสือ

2. ให้ลงวันที่ ตัวเลขของวันที่ ชื่อเต็มของเดือน พุทธศักราช และตัวเลขของปีพุทธศักราช

3. ให้ลงตัวเลขของวันที่ ชื่อย่อของเดือน และตัวเลขของปีพุทธศักราช

4. ให้ลงตัวเลขของวันที่ ชื่อย่อของเดือน และตัวเลขย่อของปีพุทธศักราช

 

ข้อ 11.

กรณีที่มีการอ้างถึงหนังสือที่เคยมีการติดต่อกัน หรือมีสิ่งที่ส่งมาด้วย ในหนังสือภายในจะต้องระบุลงไว้ในส่วนใดของหนังสือ

1. ระบุต่อจากเรื่อง และคำขึ้นต้น

2. ระบุในข้อความ

3. ระบุไว้ที่หมายเหตุ ซึ่งอยู่ด้านล่างซ้าย ต่อจาก ลงชื่อ และตำแหน่ง

4. หนังสือภายในไม่มี อ้างถึงและสิ่งที่ส่งมาด้วย

 

ข้อ 12.

ข้อใดกล่าวผิด

1. กรณีที่กระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดใด ประสงค์จะกำหนดแบบการเรียนโดยเฉพาะ สำหรับหนังสือภายใน เพื่อใช้ตามความเหมาะสมก็ให้กระทำได้

2. หนังสือภายใน คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีน้อยกว่าหนังสือภายนอก เป็นหนังสือติดต่อภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดเดียวกัน ใช้กระดาษบันทึกข้อความ หรือกระดาษทั่วไป เพียงแต่ให้ลงวันที่กำกับ

3. รายละเอียดหนังสือภายใน คือ 1. ส่วนราชการ 2. ที่ 3. วันที่ 4. เรื่อง 5. คำขึ้นต้น 6. ข้อความ 7. ลงชื่อและตำแหน่ง

4. เรื่องในหนังสือภายใน ให้ลงเรื่องย่อที่เป็นใจความสั้นที่สุดของหนังสือฉบับนั้น ในกรณีที่เป็นหนังสือต่อเนื่องโดยปกติให้ลงเรื่องของหนังสือฉบับเดิม

 

ข้อ 13.

ข้อใดกล่าวผิด

1. หนังสือประทับตรา คือ หนังสือที่ใช้ประทับตราแทนการลงชื่อของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไปโดยให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกอง หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป เป็นผู้รับผิดชอบลงชื่อย่อกำกับตรา

2. หนังสือประทับตราให้ใช้ได้เฉพาะส่วนราชการกับส่วนราชการกรณีที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

3. กรณีที่สามารถทำเป็นหนังสือประทับตราได้แก่ 1. การขอรายละเอียดเพิ่มเติม 2. การส่งสำเนาหนังสือ สิ่งของ เอกสาร หรือบรรณสาร 3. การเตือนเรื่องที่ค้าง 4. การตอบรับทราบที่ไม่เกี่ยวกับราชการสำคัญ หรือการเงิน

4. หนังสือประทับตราใช้กระดาษตราครุฑ

 

ข้อ 14.

รายละเอียดหนังสือราชการชนิดใดไม่มีคำขึ้นต้น

1. หนังสือภายใน

2. หนังสือภายนอก

3. หนังสือประทับตรา

4. ไม่มีข้อถูก

 

ข้อ 15.

ข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันข้าราชการตำรวจชั้นประทวน เข้าเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ตามระเบียบงานสารบรรณ พ.ศ.2526 จะต้องเก็บข้อสอบไว้กี่ปี

1. เก็บไว้ตลอดไป เพราะเป็นเอกสารลับทางราชการ

2. เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี เพราะเป็นเอกสารที่เกิดจากการปฏิบัติงานเป็นประจำ

3. เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี เพราะเป็นเอกสารที่มีต้นเรื่องสามารถค้นหาได้จากที่อื่น

4. เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นไปตามอายุการเก็บหนังสือปกติทั่วไป

 

ข้อ 16.

หนังสือบันทึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งจัดทำโดยกองจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยปกติจะเก็บได้กี่ปี

1. เก็บไว้ตลอดไป

2. เก็บไว้ตามที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรกำหนด

3. เก็บไว้ตามระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้น

4. ถูกทั้ง 1 หรือ 2

 

ข้อ 17.

ข้อใดถูกต้อง เกี่ยวกับอายุการเก็บหนังสือที่เกี่ยวกับ การเงิน ที่มิใช่เอกสารสิทธิ

1. เก็บเหมือนกับหนังสือโดยปกติทั่วไป คือไม่น้อยกว่า 10 ปี

2. หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ต้องเก็บไว้ถึง 10 ปี ให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอทำลายได้

3. เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี

4. ถูกทั้ง 1 และ 2

 

ข้อ 18.

ต่อไปนี้ข้อใดเป็นหนังสือราชการ

1. หนังสือที่หน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือบุคคลภายนอกมีมาถึงส่วนราชการ

2. หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ

3. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ

4.  ถูกทั้ง 3 ข้อ

 

ข้อ 19.

หนังสือสั่งการมีกี่ชนิด

1. 2              2. 3          3. 4          4. 5

 

ข้อ 20.

หนังสือที่เป็นคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ คือหนังสือชนิดใด

1. หนังสือภายใน

2. หนังสือภายนอก

3. หนังสือสั่งการ

4. หนังสือประชาสัมพันธ์

 

 

 

เฉลย

1.  เฉลย : 3

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 กำหนดให้ส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติงานสารบรรณนอกเหนือไปจากที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ขอทำความตกลงกับผู้รักษาการตามระเบียบ (ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)

 

2.  เฉลย : 4

ในกรณีที่กฎหมายระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หรือ ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับงานสารบรรณไว้เป็นอย่างอื่นให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบว่าด้วยการนั้น

 

3.  เฉลย : 3

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจ

1. ตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ

2. การแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวก

3. จัดทำคำอธิบาย

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่

1. ดำเนินการฝึกอบรมเกี่ยวกับงานสารบรรณ

 

4.   เฉลย : 3

เพราะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นเพียงวัสดุที่ สน.สายไหมจัดซื้อเพื่อใช้ในราชการเท่านั้น มิได้เป็นหนังสือราชการ

หนังสือราชการ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานในราชการ ได้แก่

1. หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ

2. หนังสือที่ส่วนราชการมีไปถึงหน่วยงานอื่นใด ซึ่งมิใช่ส่วนราชการ หรือมีไปถึงบุคคลภายนอก

3. หนังสือที่หน่วยงานอื่นใดซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือบุคคลภายนอกมีมาถึงส่วนราชการ

4. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในราชการ

5. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ

6. ข้อมูลข่าวสารหรือหนังสือที่ได้รับจากระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

 

5.  เฉลย : 1

หนังสือภายนอกมีรายละเอียดเรียงลำดับดังนี้

1. ที่

2. ส่วนราชการเจ้าของหนังสือ

3. วันที่ เดือน ปี

4. เรื่อง

5. คำขึ้นต้น

6. อ้างถึง (ถ้ามี)

7. สิ่งที่ส่งมาด้วย (ถ้ามี)

8. ข้อความ

9. คำลงท้าย

10. ลงชื่อ

11. ตำแหน่ง

12. ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง

13. โทร

14. สำเนาส่ง (ถ้ามี)

 

6.   เฉลย : 1

ผิด การอ้างถึงของหนังสือภายนอกเป็นไปตาม 2, 3, 4

 

7.   เฉลย : 2

ถึงแม้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การที่หนังสือราชการระบุชื่อตัวบุคคล จึงต้องใช้เหมือนปกติทั่วไป

 

8.   เฉลย : 3

หนังสือภายนอก เพราะต้องใช้ที่เป็นแบบพิธีเนื่องจากเป็นการส่งหนังสือ ข้ามหน่วยงาน ต่างกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัด แม้กรณีนี้จะเป็นจังหวัดเดียวกันซึ่งควรจะใช้หนังสือภายใน แต่เป็นการข้ามหน่วยงาน จึงต้องใช้หนังสือภายนอก

 

9.   เฉลย : 2

ในเรื่องของ “ส่วนราชการ” ในหนังสือภายใน มีข้อกำหนด ดังนี้

1. ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่อง หรือ หน่วยงานที่ออกหนังสือ โดยมีรายละเอียดพอสมควร ฉะนั้น ตัวเลือก 1 ต้องผิดแน่นอน เพราะใช้คำว่า “ส่วนราชการเจ้าของหนังสือ”

2. หากส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับกรมขึ้นไป (กรม, ทบวง, กระทรวง) ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่องทั้งระดับกรมและกอง

3. ถ้าส่วนราชการที่ออกหนังสืออยู่ในระดับต่ำกว่ากรมลงมา ให้ลงชื่อส่วนราชการเจ้าของเรื่อง เพียงระดับกอง หรือ ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี)

จากข้อกำหนดดังกล่าว ทำให้ 3, 4 ผิดเพราะใช้คำว่า “ส่วนราชการเจ้าของหนังสือ”

 

10.   เฉลย : 1

เช่น 20 มกราคม 2552

 

11.   เฉลย : 2

ในกรณีที่มีการอ้างถึงหนังสือที่เคยติดต่อกัน หรือมีสิ่งที่ส่งมาด้วย ให้ระบุไว้ในข้อความ

 

12.   เฉลย : 2

ข้ออื่นๆ ถูกต้องตามระเบียบงานสารบรรณ สำหรับตัวเลือก 2 ผิดตรง “หรือกระดาษทั่วไป เพียงแต่ให้ลงวันที่กำกับ”

 

13.   เฉลย : 2

ผิดเพราะ หนังสือประทับตรา ให้ใช้ได้ทั้งระหว่างส่วนราชการกับส่วนราชการ และระหว่างส่วนราชการกับบุคคลภายนอก กรณีที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

สำหรับตัวเลือก 3 ถูก เพียงแต่ต้องเพิ่มกรณีที่จะใช้หนังสือประทับตราได้อีกคือ

- การแจ้งผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบ

- เรื่องซึ่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไปกำหนด โดยทำเป็นคำสั่งให้ใช้หนังสือประทับตรา

 

14.   เฉลย : 3

หนังสือประทับตรา มีรายละเอียดดังนี้

1. ที่ 2. ถึง 3. ข้อความ 4. ชื่อส่วนราชการที่ส่งหนังสือออก 5. ตราชื่อส่วนราชการ 6. วัน เดือน ปี 7. ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง 8. โทร หรือที่ตั้ง

 

15.   เฉลย : 3

เนื่องจากข้อสอบที่มีต้นเรื่องสามารถค้นได้จากหน่วยงานที่ออกข้อสอบ จึงต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

16.   เฉลย : 4

สามารถทำได้ทั้ง 1 หรือ 2 เนื่องจากเป็นหนังสือประวัติศาสตร์

 

17.   เฉลย : 4

เนื่องจากเป็นหนังสือปกติ ซึ่งต้องเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี เพียงแต่ว่าตามระเบียบงานสารบรรณ พ.ศ.2526 ได้ยกเว้นไว้ว่า หากเห็นว่ามีความจำเป็น ต้องเก็บไว้ถึง 10 ปี ให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอทำลายได้

 

18.   เฉลย : 4

คำถามในข้อนี้จะอยู่ในหมวด 1 ว่าด้วยชนิดของหนังสือตามข้อ 9 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบัญ พ.ศ.2526 หนังสือราชการ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานในราชการ ได้แก่

1. หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ

2. หนังสือที่ส่วนราชการมีไปถึงหน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการ หรือที่มีไปถึงบุคคลภายนอก

3. หนังสือที่หน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือที่บุคคลภายนอกมีถึงส่วนราชการ

4. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในราชการ

5. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ

 

19.   เฉลย : 2

หนังสือสั่งการมี 3 ชนิด ได้แก่ คำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับ

อธิบายเพิ่มเติม

1. หนังสือที่มีไปมาระหว่างส่วนราชการ เช่น หนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงกระทรวงศึกษาธิการ

2. หนังสือที่ส่วนราชการมีไปถึงหน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือที่มีไปถึงบุคคลภายนอก เช่น หนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง นายบุญชู กู้หนี้ยืมสิน

3. หนังสือที่หน่วยงานอื่นใดซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือที่บุคคลภายนอกมีถึงส่วนราชการ เช่น นายบุญชู กู้หนี้ยืมสิน เขียนหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานทางราชการ เช่น หนังสือที่กระทรวงมหาดไทยทำขึ้นเพื่อประกาศให้ชาวบ้านได้ทราบถึงเขตอันตรายของท่อก๊าซ

5. เอกสารที่ทางราชการจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่ง เช่นจังหวัดขอนแก่น ได้ประกาศให้ผู้ที่มีรายชื่อในทะเบียนภายในเขตจังหวัดขอนแก่น ไปตรวจรายชื่อตามหน่วยเลือกตั้งเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเลือกตั้ง ส.ส.

 

20.   เฉลย : 3

คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ คือ หนังสือสั่งการ มี 3 ชนิดคือ

อธิบายเพิ่มเติม คำสั่ง - สั่งการให้ปฏิบัติ

ระเบียบ - วางไว้

ข้อบังคับ - กำหนดให้ใช้

หมายเหตุ เป็นเพียงหลักการจำเท่านั้น

 

 


 

OPINION
managed by
OPINION CORPORATION 
Education Management Experience 
ปีที่ 24
โดย 
อ.วิรัช แสนจันทร
(A. Viruch Sanjun)
ผอ.สถาบัน และคณาจารย์มีประสบการณ์อย่างมืออาชีพ

OPINION Institute (สถาบันโอพีเนี่ยน) 2100/1252 ถ.รามคำแหง ชอย. 24/3 (เข้าซอย 20 เมตร) หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพ 10240 Tel. 084-4481637, 087-9334871, (02)-7182752-3
http://www.opinioncorp.com , Email:opinionpro@hotmail.com